๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๐

ทำบุญ กับเนื้อนาบุญอันประเสิรฐ


วันออกพรรษา
ต ร ง กั บ วั น ขึ้ น ๑ ๕ ค่ำ เ ดื อ น ๑ ๑
วันออกพรรษา คือวันสิ้นสุดระยะการจำพรรษา หรือออกจากการอยู่ประจำที่ในฤดูฝนซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ วันออกพรรษานี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วันมหาปวารณา" คำว่า"ปวารณา"แปลว่า "อนุญาต" หรือ "ยอมให้" คือ เป็นวันที่เปิดโอกาสให้พระภิกษุสงฆ์ด้วยกัน ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ในข้อที่ผิดพลั้งล่วงเกินระหว่างที่จำพรรษาอยู่ด้วยกัน ในวันออกพรรษานี้กิจที่ชาวบ้านมักจะกระทำก็คือ การบำเพ็ญกุศล เช่น ทำบุญตักบาตร จัดดอกไม้ ธูป เทียน ไปบูชาพระที่วัด และฟังพระธรรมเทศนา ของที่ชาวพุทธนิยมนำไปใส่บาตรในวันนี้ก็คือ ข้าวต้ม มัดไต้ และข้าวต้มลูกโยน...
จาก เว็บธรรมะไทย

ลูกลุงเยี่ยมก็ไปทำบุญวันออกพรรษาที่วัดชายนามาเช่นกัน โดยนัดแนะกับแม่ตั้งแต่เมื่อคืน ให้แม่เตรียมปิ่นโตให้ ลูกจะเป็นตัวแทนครอบครัวไปทำบุญให้เอง ปกติแล้ว ชาวบ้านนอกเรา มีธรรมเนียมนิยมในการไปทำบุญที่วัดในวันสำคัญทางศาสนาอยู่แล้ว โดยใครใกล้ที่ไหน ก็ไปที่นั่น ปกติที่บ้านลุงเยี่ยมก็ไปทำบุญที่วัดประจำตำบลเรา แต่วันนี้ลูกตั้งใจอยากไปทำบุญกับ "เนื้อนาบุญอันประเสิรฐ" ตามความคิดของลูก พ่อแม่ก็ไม่ขัด โมทนายินดี เพียงแต่ไม่ได้ไปด้วย เพราะเดี๋ยวจะมีคำถามมากมายจากเพื่อนบ้านว่า ทำไมไปทำบุญข้ามเขต! จะเกิดโทษกับผู้พูดเสียเปล่าๆ แต่ลูกไปคนเดียวได้อย่างคล่องตัว เพราะไปประจำอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่เคยไปสวดมนต์ ทำบุญ ฟังเทศน์ วัดชายนาเลย
เราตืน 6 โมงเช้า อาบน้ำแต่งชุดขาว แม่ก็เตรียมปิ่นโตเสร็จพอดี บอกว่า ทำเผื่อแม่ พ่อ และครอบครัวด้วย แล้วอย่าลืมกรวดน้ำเอาบุญส่งไปให้ถึงปู่ย่าตาทวด บรรพบุรุษของเราด้วย ที่วัดชายนา มีสาธุชนไปทำบุญวันออกพรรษากันมากมาย พระเณรผู้ทรงศีลก็มีมากทีเดียว ราวๆ 20 รูป โดยมีหลวงพ่อตัด ปวโร เป็นองค์ประธาน
ร่างกายหลวงพ่อดูยังบ่งบอกว่ามีอาการป่วย แต่ท่าทาง น้ำเสียงหลวงพ่อ ยังองอาจ เข้มแข็ง เหมือนเดิม ท่านนำสวดไป ก็มีอาการระคายคอ และต้องสลับกับการถ่มเสมหะลงในกระโถนข้างองค์เป็นระยะๆ ลูกลุงเยี่ยมยิ่งเซ้นส์สิทีฟอยู่ ถึงกับน้ำตาซึม ที่หลวงพ่อไม่ยอมพัก แต่กลับมาปฏิบัติศาสนกิจ เป็นศูนย์รวมศรัทธาของสาธุชนในวันสำคัญเช่นนี้ T_T หลังจากญาตโยมถวายภัตตาหาร และพระสงฆ์สวดให้พร เสร็จพิธีแล้ว พระสงฆ์เริ่มฉันภัตตาหาร แต่องค์หลวงพ่อยังเมตตาเทศน์ให้ญาติโยมฟัง 1 กัณฑ์ เกี่ยวกับเรื่อง วันออกพรรษา และวันมหาปวารณา ตามที่คัดลอกจากเว็บธรรมะไทยมาเกริ่นไว้ช่วนต้นนั่นเอง เพิ่งเห็นหลวงพ่อขึ้นธรรมาสถ์เทศน์เป็นครั้งแรก ท่านสวมแว่นตา อ่านข้อความจากใบลาน เทศน์ผ่านไมโครโฟน ด้วยสำเนียงกรุงเทพฯ ^^ (ไม่ได้เหน่อแบบที่ท่านพูดปกติ) น้ำเสียงหลวงพ่อ กังวาน มีพลังอานาจ และน่าฟัง จนดูไม่เหมือนว่าท่านป่วยอยู่
พอท่านกล่าวถึง "เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้..." ท่านก็บอกว่า เอ้า กินข้าวกัน แล้วลงจากธรรมาสถ์ และเดินฉับๆ ลงมา อ้อมศาลาไปทางโบสถ์ โดยไม่เห็นท่านฉันเช้า จึงถามคุณยายที่มาถือศีลอยู่วัดว่า หลวงพ่อไม่ฉันเหรอยาย ยายบอกว่า หลวงพ่อคงฉันข้าวต้มตอนเช้าแล้ว (เพราะท่านป่วยอยู่)
ตอนเอาน้ำที่กรวดแล้วไปเท...ที่นี่มีธรรมเนียมที่แปลกจากวัดในตำบลเรานิดหน่อย คือทุกคนถือกระดาษทิชู ใบไม้ ใบตอง ไปรองรับน้ำที่เทลงบนพื้นดินด้วย คุณยายผ้าขาวคนหนึ่ง แบ่งทิชชูให้เราด้วยเมื่อเห็นเรามีแต่แก้วน้ำเปล่าๆ แล้วบอกให้ทำตามยาย พอเทน้ำเสร็จ ก็ถามยายว่า "เอากระดาษรองทำไมเหรอยาย" ยายบอกว่า เพราะดินสกปรกน่ะสิ ที่จริงลูกลุงเยี่ยมเคยฟังข้อวินัยสงฆ์ข้อหนึ่ง ที่บอกว่า ไม่ให้ทำน้ำตกลงบนพื้นดินโดยตรง จะเป็นอันตรายต่อชีวิตเล็กๆ น้อยๆ ในดินได้ ท่านจึงให้น้ำผ่านใบไม้ หรือเครื่องรองรับอย่างอื่นก่อน ทำให้นึกในใจว่าหลวงพ่อท่านเคร่งครัดพระวินัย แล้วยังมีกุศโลบายสอนสั่งให้ญาตโยมทำตามเป็นบุญกุศลใหญ่ด้วย

ตอนถือปิ่นโตเปล่าออกมาที่รถ เห็นหลวงพ่อกำลังเดินเข้าไปในโบสถ์พอดี มีพรรคพวกคนชายนาที่รู้จักกัน แซวว่า "เอ้า ไม่อยู่ทั้งวันเหรอ แต่งชุดขาวเขาต้องอยู่ทั้งวันนา" ขณะกำลังสตาร์ตรถกลับบ้าน จึงบอกเขาว่า "เดี๋ยววันหลังๆ วันนี้ซ้อมๆ ไว้ก่อน ^^" แต่ก็คิดว่า เย็นๆ จะไปสวดมนต์ทำวัตรเย็นอีกครั้ง

กัลยาณมิตรคนหนึ่งเคยบอกว่า การจะได้ชื่อว่า รู้จัก และมีศรัทธาต่อพระสงฆ์องค์ใดนั้น ต้องหมั่นไปทำบุญกับท่าน ไปปฏิบัติภาวนากับท่านด้วย จึงจะถือได้ว่า เป็นศิษย์ท่านจริงๆ ในขณะที่เรายังมีความพร่องอยู่มากอย่างนี้ การจะไปกล่าวว่า ท่านนั้นท่านนี้เป็นครูบาอาจารย์ของเรา ระวังคนฟังที่เขาเห็นเราไม่เข้าท่า เขาจะปรามาสไปถึงครูบาอาจารย์ของเราให้มัวหมองได้...

ผลบุญใดที่ข้าพเจ้าได้กระทำมาตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน ขอให้ท่านที่ได้รับทราบทุกคน ทุกตน จงโปรดโมทนาเอาเถิด สาธุๆๆ

ไม่มีความคิดเห็น: